แนวปฏิบัติที่ดี

การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การวิจัย คือ กระบวนการหาความรู้ที่เป็นระบบ มีแบบแผนที่เชื่อถือได้และเป็นที่ยอมรับ เพื่อพิสูจน์บางอย่างหาแนวทางแก้ไข สร้างนวัตกรรม สร้างองค์ความรู้  ซึ่งในการคิดหัวข้อวิจัย ควรเป็นการคิดเพื่อแก้ไข พัฒนา หรือลดปัญหาลง โดยงานวิจัยที่ดีต้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แก้ไขปัญหาได้ นั่นคือ ใช้งานวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาขีดความสามารถของคนทำงาน ผลิตผลงานเชิงวิจัยออกมาได้ แล้วป้อนกลับไปพัฒนางานประจำให้ดีขึ้น

R2R “Routine to Research” คือ การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย ใช้งานวิจัยสร้างความรู้เพื่อพัฒนาจากงานประจำ เป็นการนำงานในตำแหน่งของตนเองมาพัฒนาหรือวิเคราะห์ว่ามีอะไรที่เป็นปัญหา  หรือ อะไรที่ยังสามารถพัฒนาได้ หรือ อะไรที่ทำแล้วดีกว่าเดิม หรือ อะไรที่คิดว่าในอนาคตจะมีปัญหา ต้องมีการทดลอง เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และสรุปผล

R2R ไม่ได้ตอบสนองใครคนใดคนหนึ่ง แต่ตอบสนอง ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายบริหาร เป้าหมายองค์กร คนทำงาน และ ผู้รับบริการ

การวิจัยทั่วไปกับ R2R ต่างกันอย่างไร

R2R จะใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้จากประงานประจำที่เป็นไปตามตำแหน่งที่เราถือครองอยู่ ซึ่งต่างจากงานวิจัยโดยทั่วไปตรงที่จะถือว่าองค์ความรู้อยู่ในตัวของคนทำงานเอง หาความรู้ได้ด้วยตนเอง ศักยภาพที่เรามี พัฒนาตนเองได้ โดยหวังผลในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และพัฒนาองค์การให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

กระบวนการขั้นตอนการทำวิจัย

  • ต้องคิดหัวข้อวิจัย โดยหัวข้อเป็นหัวข้อใกล้ตัว ตนเองมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวข้องกับงานของเรา สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนางานได้
  • กำหนดวัตถุประสงค์/ความมุ่งหมาย ซึ่งต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
  • ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
  • เขียนเค้าโครงงานวิจัย
  • สร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เช่น การสัมภาษณ์/การใช้แบบสอบถาม
  • สรุปและอภิปรายผลการดำเนินงาน
  • เผยแพร่งานวิจัยของตนเอง

การวิจัยจะเป็น R2R หรือไม่ ให้ดูองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ดังนี้

  • โจทย์วิจัย ต้องมาจากงานประจำ ปัญหาอะไรที่ทำให้งานไม่บรรลุเป้าหมาย หรือสามารถพัฒนางานให้ดีขึ้นได้อย่างไร มาจากปัญหาจากงานประจำที่ทำ เช่น ประสบการณ์ส่วนตัวในการทำงาน ข้อเสนอแนะ/ข้อร้องเรียนของผู้รับบริการ หรือนโยบายหรือเป้าหมายของหน่วยงาน
  • ผู้ทำวิจัยหรือนักวิจัย คือ คนที่ปฏิบัติงานประจำนั้น เพราะจะเข้าใจปัญหาได้เป็นอย่างดี
  • ผลลัพธ์ของการวิจัย ต้องดูผลที่ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้รับของงานที่ให้บริการ
  • การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ผลการวิจัยต้องนำไปปรับปรุงและพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดีขึ้น ต้องวัดได้จากผู้ที่มารับบริการโดยตรงหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานของเรา เช่น การให้บริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น

หัวใจสำคัญของ R2R

คือ การพัฒนางาน

จุดเน้นของ R2R

  • สร้างความรู้โดยผู้ใช้ความรู้เอง ตนเองคือผู้เชี่ยวชาญ หาความรู้ได้ด้วยตนเอง
  • มีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ที่สามารถเรียนรู้และงอกงามได้
  • หวังผลในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และพัฒนาองค์กร

เป้าหมายหลักของ R2R

  • ปฏิบัติการในกระบวนการเรียนรู้
  • ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือสร้างความรู้
  • กระบวนการสร้างความรู้เพื่อพัฒนางาน

คุณลักษณะ 3 ประการของ R2R

  • สร้างคุณค่า/ความหมายใหม่ให้งานประจำ = เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่สัมผัสกับชีวิตผู้คน
  • การนำไปสู่การเข้าถึงผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง = ความเข้าใจชีวิตและมีความละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์มากขึ้น
  • การสร้างความรู้ให้กับผู้ปฏิบัติงาน = เกิดเป็นความรู้ใหม่และมีความสุขที่ได้จากการทำงาน

โดยสรุปการวิจัยในงานประจำ (R2R) คือการวิจัยที่ผู้ปฏิบัติงานใช้ข้อมูลและประสบการณ์จากการทำงานประจำในการสร้างความรู้ เพื่อพัฒนางานที่ทำอยู่ให้ดีขึ้น โดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือพัฒนา งาน พัฒนาตนเอง และสร้างความรู้จากงานประจำที่รับผิดชอบ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการนำองค์กรไปสู่ องค์กรแห่งการเรียนรู้

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ทำให้ทราบถึงกระบวนการทำวิจัยที่ง่าย ไม่ซับซ้อน งานวิจัยเป็นการค้นหาคำตอบในสิ่งที่ตัวเรายังไม่รู้ ตั้งคำถาม หาแนวทางแก้ไข หรือสร้างองค์ความรู้ โดยการเก็บข้อมูลจากกลุ่มคนหรือชุมชนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งงานวิจัยที่คิดมาต้องสามารถนำมาปรับปรุง/แก้ไขปัญหาการทำงาน พัฒนางานได้ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ ซึ่งการทำงานวิจัยจะช่วยให้ปัญหาที่มีลดลงได้

ความรู้เพิ่มเติมในการทำวิจัย

  1. การใช้แบบสอบถามหรือแบบสัมภาษณ์ มีข้อกำหนดที่คนทำวิจัยต้องทราบคือ ห้ามระบุผู้ให้ข้อมูลในงานวิจัย ต้องเขียนโดยไม่ให้ผู้อ่านรู้ว่าผู้ให้ข้อมูลเป็นใคร ต้องไม่สามารถสืบถึงต้นตอของข้อมูลได้ นอกจากนี้การวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตต้องมีการยื่นจริยธรรม แม้แต่การใช้แบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์ ต้องดำเนินการยื่นจริยธรรมให้เรียบร้อยก่อนการสอบถามหรือสัมภาษณ์ (ยื่นผ่านสถาบันวิจัยและพัฒนา)
  2. การใช้แบบสอบถาม ต้องให้รายละเอียด มีคำอธิบายชี้แจงที่ชัดเจน เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้ตอบตอบแบบสอบถามได้ตรงประเด็น โดยก่อนที่จะนำแบบสอบถามไปเก็บข้อมูลจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อคำถาม ดังนี้
  • หาค่าเที่ยงตรงของแบบสอบถาม (IOC) โดยนำแบบสอบถามไปให้ผู้ตรวจ 3 ท่านพิจารณา ซึ่งผู้ตรวจท่านที่ 1 จะเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยของผู้ทำวิจัย ผู้ตรวจท่านที่ 2 จะเป็นผู้มีความสามารถและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาษา และผู้ตรวจท่านที่ 3 จะเป็นผู้มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้านสถิติ
  • หาค่าความเชื่อมั่นกับกลุ่มคนที่มีลักษณะเดียวกันกับผู้ตอบแบบสอบถาม โดยต้องไม่เป็นบุคคลซ้ำซ้อนกับผู้ตอบแบบสอบถามจริงในงานวิจัยของผู้วิจัย
  1. การตีพิมพ์งานวิจัยต้องมีหลักเคารพ หลักยุติธรรม และประโยชน์ที่เขาจะได้
  2. การอ้างอิงไม่ควรอ้างต่อจากแหล่งข้อมูล 2 ต่อ ควรเอาข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลจริง
  3. ฐานการสืบค้นข้อมูลในการทำวิจัย : Thailist, Google Scholar, Google Search
  4. งานวิจัยเชิงคุณภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่อธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี มีการขยายความ แต่ข้อควรระวัง คือ หากได้ข้อมูลการสัมภาษณ์แล้วต้องไม่เติมแต่งข้อมูลนั้น ต้องไม่ใส่ความคิดเห็นของตนเองลงไปในคำตอบของผู้ตอบแบบสัมภาษณ์